วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

สมาธิกับการเรียน






ช่วงเวลาที่เด็กชายป๋องรู้สึกทุกข์ทรมานเป็นที่สุด ก็ตอนที่ต้องนั่งนิ่งๆตัดผมในร้านนั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่สังเกตุเห็นพฤติกรรมของป๋องในช่วงตัดผมคือ การยุกยิกไม่อยู่นิ่ง เกาโน่นจับนี่เหมือนจะคันไปหมดทั้งตัว หันซ้ายที หันขวาที และมีบางครั้งที่ ลุกทะลึ่งพรวดลงจากโต๊ะตัดผม แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย!! พ่อต้องคอยกำกับอยู่ใกล้ๆตั้งแต่ต้นจนกว่าจะเสร็จ ทำเอาทั้งคุณพ่อและลุงช่างตัดผมต้องปาดเหงื่อกันหลายรอบเลย

น้องเจนเป็นเด็กน่ารัก เรียบร้อย มาโรงเรียนสม่ำเสมอ นั่งเรียนตาแป๋วทุกชั่วโมง แต่ทำไมถึงสอบได้ไม่ดีเลย คุณครูรายงานว่าน้องเจนชอบนั่งเหม่อลอย มองออกนอกหน้าต่าง ครูพูดด้วยก็เหมือนไม่ได้ยิน การบ้านที่ให้ไปก็ส่งไม่ครบ สมุดหนังสือหายเป็นประจำ ส่วนคุณแม่ก็ว่า น้องเจนเป็นเด็กช้าไม่ทันเพื่อน เวลาทานข้าวจะใช้เวลานานมากกว่าจะทานเสร็จ เพราะมัวแต่ทานไปดูทีวีไป


เรื่องราวข้างต้น คงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองหลายท่านประสบอยู่เป็นประจำ จนบางท่านต้องพาลูกไปปรึกษาแพทย์ ว่าลูกซนผิดปกติบ้าง สมาธิสั้นบ้าง หรือที่หนักที่สุดก็คือ คิดว่าลูกเป็นเด็กไม่เอาไหนเลย

ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิที่เป็นมากจนกระทบกับการเรียน ทางการแพทย์จะเรียกว่า โรคสมาธิสั้น (Attention deficit/ hyperactivity disorder) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง และโรคนี้สามารถติดตัวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ นอกจากนี้ผู้ที่อาจยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคสมาธิสั้น แต่มีปัญหาสมาธิ คือวอกแวกง่าย อ่านหนังสือเขียนหนังสือและทำงานต่อเนื่องไม่ได้นาน

ความสามารถที่จะมีสมาธิได้จดจ่อต่อเนื่องนั้น ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญสองประการ คือ การจดจ่อใส่ใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และ ความสามารถในการเพิกเฉยไม่สนใจต่อสิ่งเร้าอื่นที่มารบกวน ในเด็กที่มีสมาธิสั้นนั้นจะมีปัญหาทั้งสองอย่างร่วมกันคือ จดจ่อสนใจไม่ได้นานและวอกแวกง่าย

ปัญหาสมาธิสั้นส่วนใหญ่พบว่ามาจากการที่สมองส่วนหน้าทำงานพร่องไป อาจเกิดจากว่ายังไม่พัฒนาเต็มที่ หรือจากรอยโรคการบาดเจ็บซึ่งเกิดขึ้นในวัยเด็ก นอกจากนี้ยังพบปัญหาสมาธิสั้นในโรคซึมเศร้า ออทิสติก ปัญญาอ่อน โรคลมชัก ส่วนสาเหตุอื่นอาจเกิดจากการฝึกฝนเลี้ยงดู ที่ขาดการฝึกวินัยการควบคุมตัวเองและสภาพแวดล้อมที่บ้านมีสิ่งเร้าเด็กมากเกินไป

จากการพัฒนาเทคโนโลยีทางสมองก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก คือสามารถประเมินการทำงานของสมองโดยการวัดค่าคลื่นสมอง(Electroencephalography) เป็นสภาวะของสมองในแต่ละขณะๆ และพัฒนามาเป็นการบำบัดที่เรียกว่า Neurofeedback โดยจะสะท้อนค่าคลื่นสมองที่วัดได้กลับสู่สมอง เพื่อให้สมองสามารถเรียนรู้และปรับปรุงการทำงานของตัวเอง การทำเช่นนี้ซ้ำๆประมาณ 20-40 ครั้ง จะทำให้สมองมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลคือทำให้มีสมาธิเพิ่มมากขึ้น สามารถจดจำได้มากขึ้น เพิ่มความสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นการเพิ่มสมรรถภาพการเรียนรู้ด้วยการปรับปรุงที่การทำงานของสมองโดยตรง

ก่อนรับการบำบัดจะมีการประเมินความสามารถของสมาธิในเด็กแต่ละราย เพื่อให้ทราบค่าเบื้องต้น ประกอบด้วย การละเลยคำตอบ ความวู่วาม ความเร็วในการตอบสนอง และค่าความผันแปรของสมาธิในแต่ละช่วงเวลา จากค่าที่ได้จะช่วยวางแผนการใช้ Neurofeedback พัฒนาสมาธิของเด็กได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ

การบำบัดด้วย Neurofeedback เป็นวิธีการที่ปลอดภัยโดยไม่ต้องใช้ยา และมีการวิจัยและพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในการเพิ่มสมรรถภาพการเรียนรู้ให้กับเด็กในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศทางยุโรปอย่างมากมายในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น