วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การปรับพฤติกรรม


             การปรับพฤติกรรมเป็นการนำเอาหลักการเรื่องพฤติกรรม (Behavior Principles) มาประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ โดยครอบคลุมทั้งแนวคิดของทฤษฎีการเรียนรู้ การวางเงื่อนไขและแนวคิดทางจิตวิทยาต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์เข้ามาประยุกต์ใช้ 


เทคนิคการปรับพฤติกรรมที่เป็นที่นิยมและมีการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการปรับพฤติกรรม ได้แก่

1. การเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement)


             การส่งเสริมให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ซ้ำ อาจทำได้ด้วยการชมเชยหรือให้รางวัล เช่น อาหาร ของเล่น กิจกรรมที่เด็กชอบ การให้การเสริมแรงเชิงบวกควรให้อย่างสม่ำเสมอในตอนแรกเพื่อเป็นการเพิ่มการแสดงพฤติกรรม แต่เมื่อพฤติกรรมเริ่มคงที่แล้วควรลดเสริมแรงลงและให้แรงเสริมเป็นครั้งคราวเท่านั้นเมื่อพฤติกรรมคงที่แล้ว

2. การเสริมแรงเชิงลบ (Negative Reinforcement)


             การส่งเสริมให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น โดยใช้หลักการที่ว่าเมื่อเด็กเจอสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่ไม่พึงพอใจ เด็กอาจหลบเลี่ยงหรือลีกหนีความไม่พึงพอใจนั้นด้วยการทำพฤติกรรมบางอย่างมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ครูบอกนักเรียนว่า "หากใครทิ้งขยะลงพื้นห้องเรียน จะต้องเป็นคนทำความสะอาดห้องเรียนคนเดียวเป็นเวลา 2 วัน นักเรียนจึงไม่ทิ้งขยะลงพื้น เพื่อหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดห้องเรียนคนเดียว 2 วัน ดังนั้น การทำความสะอาดห้องเรียนคนเดียว 2 วัน จัดเป็นการแรงเสริมเชิงลบเนื่องจากสามารถทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์


3.การหล่อหลอมพฤติกรรม (Shaping)


             การเลือกเสริมแรงเฉพาะพฤติกรรมที่พึงประสงค์เท่านั้น เช่น ครูชมเด็กที่ตั้งใจฟังครูสอน ส่วนเด็กที่คุยกันนั้น ครูจะแสดงอาการไม่สนใจ ซึ่งการเลือกสนใจเฉพาะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่าพฤติกรรมในเหมาะสม และแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก


4. เหรียญรางวัล (Token Economy)


             การสะสมคะแนนเพื่อให้มีสิทธิ์ได้รับรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีการกำหนดคะแนนเป็นระดับต่างๆ โดยมีรางวัลแตกต่างกัน เช่น ให้ 1 คะแนนทุกครั้งที่ส่งการบ้านตามกำหนดเวลาและให้เพิ่ม 1 คะแนนหากทำการบ้านได้ถูกต้องทั้งหมด ถ้าสะสมคะแนนได้ครบ 10 คะแนน จะได้รับรางวัลเป็นสติ๊กเกอร์ 1 แผ่น หากสะสมครบ 20 คะแนน จะได้สมุดระบายสี 1 เล่ม เป็นต้น เกณฑ์ในการให้คะแนนควรเป็นสิ่งที่เด็กสามารถทำได้

5. การทำสัญญา (Behavioral contract)


            การทำสัญญาในลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น นักเรียนทำสัญญากับครูว่าจะไม่แกล้งเพื่อนตลอด 1 สัปดาห์ หากทำได้เด็กจะได้เลือกทำกิจกรรมที่เด็กชอบ 1 อย่าง แต่ถ้าหากทำไม่ได้ เด็กจะต้องมาช่วยครูจัดหนังสือในห้องสมุดเป็นเวลา 1 วัน เป็นต้น สิ่งที่จะให้เด็กทำสัญญาควรเป็นสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ ระยะเวลาในสัญญาไม่ควรนานเกินไป และต้องมีการตรวจสอบตลอดเวลาว่าเด็กปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ 

6. การหยุดยั้ง (Extinction)


             งดให้ความสนใจต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็ก ซึ่งควรมีการให้แรงเสริมแก่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ควบคู่ไปด้วย เช่น เมื่อเด็กลุกจากที่นั่ง ครูแสดงอาการไม่สนใจ แต่เมื่อเด็กนั่งเรียบร้อยครูจะชม เป็นต้น ข้อพึงระวังสำหรับการใช้วิธีนี้ คือ ไม่ควรใช้กับพฤติกรรมที่รุนแรง เช่น การชกต่อย  การทำร้ายร่างกายกัน ซึ่งต้องหยุดพฤติกรรมนั้นทันที

7. Timeout


             การกำหนดสถานที่ให้เด็กอยู่นิ่งๆเงียบๆ ตามลำพังชั่วครู่ ประมาณ 2-5 นาที เช่น นั่งที่เก้าอี้มุมห้อง (ไม่ควรให้เด็กอยู่ในห้องปิดหรือขังเด็กไว้ในที่จำกัด) โดยไม่มีของเล่น ไม่มีสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน  ทุกครั้งที่เด็กทำผิด หลังจากนั้น ให้บอกเด็กสั้นๆว่า พฤติกรรมใดไม่ถูกต้องและที่ถูกต้องควรทำอย่างไร หากเด็กแสดงอาการไม่พอใจ ไม่ควรตอบโต้ ไม่ต้องเตือน สอน ดุหรือลงโทษด้วยวิธีการอื่น ให้พูดสั้นๆว่า “ให้นั่งสงบสติอารมณ์ตรงนี้ด้วยตัวเองก่อน 5 นาที จากนั้นเราค่อยคุยกัน”

8. Overcorrection


             การแก้ไขพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กด้วยพฤติกรรมอื่นในปริมาณที่มากกว่าความผิดที่เด็กกระทำ โดยขั้นแรกเด็กจะต้องแก้ไขการกระทำของตนเสียก่อน ส่วนขั้นที่ 2 เป็นการให้เด็กทำสิ่งที่ดีแต่เด็กไม่ชอบ 

9. การลงโทษ (Punishment)

             การจัดการพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กเพื่อไม่ให้เด็กแสดงพฤติกรรมนั้นอีกในอนาคต แต่การลงโทษมักได้ผลชั่วคราวเท่านั้น และอาจมีผลเสียแทรกซ้อนตามมา เช่น การเคยชินกับการถูกลงโทษ เด็กไม่เกรงกลัวการลงโทษ อีกทั้งยังเสียสัมพันธภาพกับเด็ก ทำให้เกิดความไม่เป็นมิตร หลบเลี่ยง ไม่กล้าบอกความจริง ดังนั้น ครูควรพึงระวังว่าการลงโทษคือการหยุดพฤติกรรมไม่ใช่เป็นการสร้างพฤติกรรม ดังนั้นหากลงโทษแล้วเด็กยังแสดงพฤติกรรมเดิมอีกแสดงว่าการลงโทษด้วยวิธีนั้นไม่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กคนนั้น ครูควรหาวิธีการลงโทษวิธีอื่น

             โดยการลงโทษนั้นอาจเป็นการลงโทษด้วยวาจา เช่น การตำหนิ หรือการลงโทษทางกาย เช่น การตี ซึ่งหากจำเป็นต้องตี ต้องตีด้วยความสงบ ต้องบอกเด็กให้ทราบถึงสาเหตุที่ถูกตี ต้องไม่ตีเด็กด้วยความโกรธ และไม่ควรใช้การตีพร่ำเพรื่อ หรือตีรุนแรงเกินไป การลงโทษจะได้ผลดี หากมีการเอาจริงเอาจัง ไม่ปล่อยให้เด็กสามารถหลีกเลี่ยงได้ และควรมีความคงเส้นคงวา หากความผิดใดกำหนดว่าจะต้องถูกลงโทษ ก็ควรลงโทษเมื่อเด็กทำความผิดนั้นเสมอ หากเด็กทำผิดเรื่องนั้นแล้วมีการลงโทษบ้าง ไม่ลงโทษบ้าง การลงโทษนั้นก็จะไม่ได้ผล เด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้ว่าพฤติกรรมใดผิด พฤติกรรมใดเหมาะสม 

             การเลือกเทคนิคที่เหมาะสมมาใช้ปรับพฤติกรรมเด็กนั้น ต้องพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น วัย  นิสัยส่วนตัวของเด็กแต่ละคน สภาพแวดล้อมของเด็ก นอกจากนั้น ในการปรับพฤติกรรมเด็กอาจต้องใช้หลายเทคนิคร่วมกัน โดยมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น